ใบต่างเหรียญ พืชคลุมดิน ปลูกแทนหญ้า

ใบต่างเหรียญ ดอกสวยน่ารัก ใบงาม นามก็เพราะ พืชคลุมดิน ปลูกแทนหญ้า ไม่ต้องตัดแต่ง ปลูกดูแลง่าย โตเร็ว เลื้อยคลุมเดินได้เร็ว ทนทาน ทนแล้ง ทนการเหยียบย่ำได้ดี

กรมวิชาการเกษตร ชวนปลูก "ใบต่างเหรียญ" เป็นไม้สนามแทนการปลูกหญ้า

กรมวิชาการเกษตร เผยแพร่ผลงานวิจัยด้านพืชและเทคโนโลยีใหม่ของกรมวิชาการเกษตรสู่สาธารณชน พร้อมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านพันธุ์พืชและเทคโนโลยีการผลิตการเกษตรให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ

"จากพืชท้องถิ่น สู่ไม้ประดับ" เป็นอีกหนึ่งในงานวิจัยที่ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะมุมจัดแสดง "ใบต่างเหรียญ" ซึ่งเป็นพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกเป็นไม้สนามแทนต้นหญ้า โดยไม่จำเป็นต้องตัด เพราะต้นใบต่างเหรียญ เจริญเติบโตแนบไปกับดิน ทำให้ประหยัดเวลาและพลังงานในการตัดหญ้า

คุณศิริพร ซึงสนธิพร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช เล่าว่า ใบต่างเหรียญ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ อายุหลายปี ลำต้นทอดเลื้อยตามผิวดิน มีรากตามข้อ ทำให้ยึดเกาะดินได้ดี ใบเดี่ยวรูปไข่หรือเกือบกลม ขอบเรียบ ดอกสีขาวออกตามซอกใบตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หรือแบ่งจากต้นเดิม ทนแล้งได้ดี เป็นพืชที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

สาเหตุที่อยากเชิญชวนให้คนไทยหันมาปลูกใบต่างเหรียญ เพื่อร่วมอนุรักษ์พืชท้องถิ่นแล้ว พืชชนิดนี้ยังสามารถเจริญเติบโตเต็มพื้นที่ ใบจะช่วยปกป้องไม่ให้น้ำฝนปะทะผิวดินโดยตรง ป้องกันการชะล้างดินได้ดี ใบไม่ช้ำหรือเละเมื่อถูกเหยียบย่ำ จึงอยากจะส่งเสริมปลูกเป็นไม้สนามแทนการปลูกหญ้า

ขณะเดียวกัน กรมวิชาการเกษตร ยังแนะนำให้คนไทยหันมาปลูกไม้ท้องถิ่น ที่มีความสวยงาม ปลูกง่าย เป็นไม้ประดับและใช้เป็นอาหารในลักษณะผักพื้นเมือง เช่น "ผักตับเต่า หรือ ผักตับเต่าน้ำ" สามารถเติบโตได้ดีในที่มีน้ำท่วมขัง "ผักแว่นใบมัน" ลักษณะใบมีสีสันสวยงาม ยอดอ่อนกินได้ "ผักเสี้ยนดอกชมพู หรือ ผักส้าน" ดอกสีชมพูขนาดใหญ่ เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับ

รวมทั้งส่งเสริมปลูก "ต้นพันงูเขียว หรือ เดือยงู" เป็นไม้ประดับ เพราะออกดอกตลอดปี เช่นเดียวกับ "ต้นโพลง" ที่มีดอกสีม่วงสด ปัจจุบัน พันธุ์พืชชนิดนี้กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะสภาพนิเวศทางธรรมชาติถูกคุกคามทำลาย เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับต้นธูปฤๅษีได้ นอกจากนี้ ยังมี "ต้นสันตะวาใบลอย" ดอกสีขาว ขนาดใหญ่ ตัดกับใบรูปคล้ายหัวใจสีเขียวเข้ม ในอดีตเป็นวัชพืชที่พบได้ในแหล่งน้ำทั่วไป แต่ปัจจุบันคาดว่าสูญพันธุ์จากแหล่งธรรมชาติแล้ว

หากประชาชนท่านใดสนใจ อยากได้ต้นพันธุ์เหล่านี้ไปปลูกขยายพันธุ์ ติดต่อขอรับได้ที่ กลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช โทร. (02) 940-7409 ในวันและเวลาราชการ

0 ความคิดเห็น :